พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ทุกวันด้วย PDCA

อยากทำงานเก่งขึ้นทำอย่างไร

เมื่ออยากเก่งขึ้น ผู้คนส่วนมากมักไปหาความรู้ใส่ตัวเองเพิ่มค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อหนังสือมาอ่าน ดู Youtube ค้นหาจาก Google หรือไปลงคอร์สเรียน ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
แต่เคยสังเกตไหมคะว่า เมื่อเราไปทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแล้ว นอกจากมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้วเราเก่งขึ้นอย่างไรบ้าง

ส่วนมากแล้วเมื่อเราลงมือหาความรู้ ก็มักจะได้ความรู้เพิ่ม แต่ถ้าสังเกตกันดีๆ จะพบว่าน้อยครั้งมากที่เราได้นำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เต็มที่ มีความรู้แล้วแต่กลับไม่ค่อยพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้เลย

ไม่ใช่ว่าคุณยังรู้ไม่มากพอ หรือไม่เก่งพอค่ะ แต่เป็นเพราะเรายังไม่ได้นำความรู้ที่มีออกมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นนั่นเอง

เราจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ยังไง

เมื่อเรามีความรู้ในระดับหนึ่งแล้วการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดผลก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ แต่การที่จะเอาความรู้ไปใช้แล้วรู้ตัวจริงๆ ว่าเราทำได้ดีแล้ว หรือต้องพัฒนา ปรับปรุง ส่วนไหนบ้างนี่แหละสำคัญกว่า
PDCA เป็นคำตอบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเองให้ทำงานเก่งขึ้นได้แบบไม่ยากเลยค่ะ


PDCA คืออะไร

ก่อนจะนำ PDCA ไปใช้งาน ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ PDCA กันสักนิดนะคะ เพื่อที่ตอนเอาไปใช้จริงจะได้ใช้งานได้แบบถูกต้องและได้ผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ นั่นเองค่ะ

PDCA มีมานานแล้วค่ะ โดยเมื่อก่อนนั้น PDCA ใช้เป็นเครื่องมือในช่วยการปรับปรุงกระบวนการทำงานของพนักงานในโรงงานให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ เพราะ PDCA ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาหลากหลายด้านเลยค่ะ เช่น การพัฒนาตัวเองให้ทำงานเก่งขึ้นดีขึ้น หรือพัฒนาตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันก็ได้ค่ะ

PDCA ช่วยให้ทำงานเก่งขึ้นได้อย่างไร?

PDCA ประกอบด้วยคำย่อ 4 คำ คือ P = Plan D = Do C = Check A = Action

คำ 4 คำนี้ก็คือขั้นตอนในการทำงานของ PDCA นั่นเองค่ะ ซึ่งจะเป็นการนำไปใช้แบบเป็นกระบวนการที่เชื่อมต่อกันแบบวงจรค่ะ

กระบวนการ PDCA

P = Plan คือ การวางแผน
เป็นการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร อยู่ในสถานการณ์แบบไหน เพื่อที่จะกำหนดวัตถุประสงค์ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการ โดยกำหนดออกมาเป็น
การกำหนดเป้าหมาย วิธีการลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการพัฒนาหรือแผนการแก้ปัญหาก็ตาม

D = Do คือ การปฏิบัติ
หลังจากทำส่วนของการวางแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเริ่มลงมือทำ หรือลงมือแก้ปัญหา ตามแผนที่ได้วางเอาไว้ เป็นการลงมือทำตามแผนที่วางเอาไว้ซึ่งจะควบคู่ไปกับคำว่าทดลองทำ เพราะการลงมือทำตามแผนที่วางเอาไว้นั้นอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้

C = Check คือ การตรวจสอบ
การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากการลงมือทำ (Do) ตามแผน (Plan) ที่ได้วางเอาไว้ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงมือทำ (Do) และดูว่าเมื่อเทียบกับเป้าหมาย (Plan) การลงมือทำเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งด้านผลลัพธ์และระยะเวลา

A = Act คือ การปรับปรุงแก้ไขและวางแผนการลงมือทำใหม่เพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อทำครบทั้ง 3 ขั้นตอนซึ่งก็คือ P : การวางแผน D : การปฏิบัติ C : การตรวจสอบ แล้ว
ก็ต้องมาดูกันว่าจะพัฒนา ปรับปรุง ส่วนไหนบ้าง เพื่อให้การลงมือทำในครั้งต่อไปได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในทุกขั้นตอนก็ไ
ด้

เมื่อทำครบ PDCA ในครั้งแรก สามารถใช้กระบวนการนี้ทำซ้ำต่อไปได้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบต่อเนื่อง




ตัวอย่างการใช้ PDCA เพื่อพัฒนาตัวเองให้ทำงานเก่งขึ้น (แบบง่าย)

P = Plan
เป้าหมายที่ต้องการคือ สามารถนำเสนองานในที่ประชุมได้เก่งขึ้น
ระยะเวลาที่ต้องการทำได้สำเร็จคือ ภายใน 2 เดือน
วิธีลงมือทำที่คิดว่าจะทำให้สามารถนำเสนองานในที่ประชุมได้เก่งขึ้นได้ภายใน 2 เดือนคือ
ฝึกออกแบบการนำเสนอให้สวยงาม กระชับ ตรงประเด็น โดยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการออกแบบการนำเสนอจำนวน 2 เล่ม
ฝึกพูดในที่สาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองเสมอ
ฝึกนำเสนอคนเดียว เพื่อพูดให้คล่อง ตรงประเด็น
เรียนรู้และฝึกการพูดโน้มน้าวใจเพื่อให้เจ้านายซื้อไอเดีย

D = Do
เริ่มลงมือทำตามแผนที่วางเอาไว้ให้ครบทุกขั้นตอน


C = Check
เมื่อครบ 1 เดือน ตรวจเช็คตัวเองว่า
ได้ลงมือทำครบตามแผนที่วางไว้หรือไม่
พัฒนาการฝีมือของเราที่ตั้งเป้าเอาไว้เป็นอย่างไรบ้าง

A = Action
จุดอ่อน ข้อบกพร่องอะไรที่ต้องแก้ไขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น
วางแผนการลงมือทำใหม่อีกครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น